Friday, February 13, 2015

บันทึกสุดท้าย-หยุดสัมปทานรอบที่ 21 : การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทย (ตอนจบ)


13 ก.พ.2558- (เดชา พาเทล-AltThaiNews) นับถอยหลังวันเสียเอกราชทางพลังงานของชาติ หลากหลายเหตุผลที่คนไทยต้องรับรู้ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานรอบที่ 21 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.พ.นี้

The Alternative Thai News Network (AltThaiNews) ได้บันทึกสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” ที่จัด โดยศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเร็วนี้ๆ ที่มีผู้ร่วมสัมมนาที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เพื่อให้เป็นความรู้และข้อมูลให้คนไทยรับรู้ ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานครั้งนี้

และแล้วก็มาถึงบันทึกตอนสุดท้าย  ที่หากคนไทยได้รู้จะต้องปวดใจเป็นที่สุด เมื่อได้รู้เอกราชที่ประเทศไทยของเราเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก  แต่หลังจากวันที่ 18 ก.พ. นี้ หากรัฐลงนามเปิดสัมปทานด้วยกติกาเดิม กฎหมายเดิม จะทำให้ประเทศไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทันที เพราะความขัดแย้งจากสัมปทานนี้จะไม่สามารถขึ้นศาลไทยได้  

หากเป็นเช่นนั้นจริง ไม่รู้ว่าหากบรรพบุรุษของชาติไทยที่หลั่งเลือดปกป้องแผ่นดินให้เราได้รู้เรื่องนี้ ท่านจะรู้สึกอย่างไร นี่เป็นอีกหนึ่งผลข้อใหญ่ที่คนไทยจะยอมให้ "สัมปทานรอบที่ 21" เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร และจะไม่มีวันเป็นเมืองขึ้นของใครเด็ดขาด  




รสนา โตสิตระกูล  สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ยืนหยัดต่อสู้เรื่องพลังงานเพื่อประชาชนมาอย่างยาวนาน   ระบุว่า  พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือเรื่องการจัดการกับข้อพิพาทที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานเอกชน ปรากฎว่าในกฎหมายปิโตรเลียมที่ถูกออกแบบและเขียนโดยที่ปรึกษาฝรั่งอเมริกัน ทำให้รัฐสูญเสียอำนาจความได้เปรียบเหนือเอกชนในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ในกฎหมายปิโตรเลียมกำหนดว่าหากมีข้อพิพาทที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานด้วยเหตุใดก็ตาม ต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ

ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม20รอบที่ผ่านมา ในระยะแรกระบุไว้เพียงให้รัฐกับเอกชนตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายของตนฝ่ายละคน และให้อนุญาโตตุลาการทั้ง2ฝ่าย ไปตกลงเลือกอนุญาโตตุลาการคนที่3 กันเอง แต่ในการเปิดสัมปทานรอบหลังๆได้ระบุว่า อนุญาโตตุลาการคนที่3ที่เป็นเสียงชี้ขาดนั้นให้ "ประธานธนาคารโลก" หรือ "ประธานศาลแห่งสมาพันธรัฐสวิส" เป็นผู้แต่งต้ัง การกำหนดเช่นนี้ย่อมทำให้เอกชนต่างชาติมีอำนาจเหนือรัฐบาล เพราะ2เสียงในอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นฝ่ายของเอกชนต่างชาติ ดังที่เห็นอยู่เสมอว่ากรณีพิพาทที่รัฐบาลไทยมีกับบริษัทต่างชาติในระบบอนุญาโตตุลาการ รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแพ้และเสียค่าโง่มาโดยตลอด

ตามปกติแล้วระบบอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องที่ใช้กับทางธุรกิจ ถ้ารัฐบาลไทยไปกู้เงินต่างชาติ เขาก็มักจะบังคับให้รัฐบาลต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการเพื่อคงความได้เปรียบของเขา ส่วนการให้สัมปทานปิโตรเลียม เป็นการที่ต่างชาติมาขุดสมบัติในบ้านเรา ควรแล้วหรือจะให้เขามามีอำนาจกำหนดเงื่อนไขกับเงิน และทรัพย์สินในกระเป๋าของเรา??

ในอดีตที่ประเทศไทยเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับต่างชาติมาเป็นเวลานาน เป็นความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับประเทศ และบุรพกษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่5 เป็นต้นมาได้พยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยบ้านเมืองให้ปลอดพ้นจากพันธนาการของต่างชาติในทางศาล จนมาประสบความสำเร็จหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงงานแรกของรัฐสภาไทย ที่สามารถยกเลิกการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลได้สำเร็จ มาวันนี้เรากลับสละอำนาจศาลไทยในการดูแลคุ้มครองประโยชน์บ้านเมือง ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่รัฐบาลไทยจะรีบแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ล้าหลัง ที่ทำลายประโยชน์บ้านเมือง เพื่อปลดล็อคพันธนาการ ที่ต่างชาติวางกลไก เงื่อนไขมาจัดการกับทรัพย์สินในกระเป๋าของเรา

เพราะฉะนั้น ต้องมีการแก้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 ก่อนที่จะมีการให้สัมปทานรอบที่ 21 เพราะตรงนี้เป็นจุดรอยต่อที่สำคัญมาก โดย Road map ของกลุ่มทุนพลังงานตอนนี้คือ ต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ เพื่อไม่ให้รัฐบาลไทยยึดระบบสัมปทานคืน นี่คือ ข้อเดียวที่เอกชนต้องการ เพราะระบบอนุญาโตตุลาการ ที่จะเอามาตัดสินทำให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสัมปทานได้

ดังนั้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อนี้ วันที่ 18 ก.พ.จะเป็นวันส่งมอบทรัพยากรไทยให้กับเอกชน รัฐบาลอ้างว่า ถ้าไม่เปิดเราจะเสียหน้า แต่ถามว่าระหว่างการเสียหน้ากับเสียชาติ เราควรจะเสียอะไรดี การเปิดสัมปทานครั้งนี้สำคัญมาก เพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่ประชาชนไทย จำนวน 65 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน จะยอมให้บุคคลเพียงบางกลุ่มตัดสินใจชะตากรรมของลูกหลานในอนาคตอีก 39 ปี หรือไม่ เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันหยุดยั้งเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแถลงเรื่องการสงวนสิทธิแปลงสัมปทาน3แปลงไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบอื่นจึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือกฎหมายปิโตรเลียมบัญญัติไว้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงคิดมโนไปเองโดยไม่มีหลักกฎหมายรองรับ ก็น่าจะเป็นเพียงคำลวงเพื่อลดกระแสต่อต้านการเปิดสัมปทานรอบ21เท่านั้น!!!!



ไม่ได้ถ่วงความเจริญ แต่อยากให้รัฐรอบคอบ

ขณะที่ อาจารย์ นพ สัตยาศัย วิศวกรอาวุโส และประธานชมรมจามจุรีและเพื่อนปฏิรูปประเทศไทย  กล่าวปิดท้ายว่า การคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ของภาคประชาชนไม่ใช่การถ่วงความเจริญ แต่เป็นเพราะอยากให้รัฐบาลดำเนินการให้รอบคอบ เพราะแหล่งปิโตรเลียมเป็นสมบัติของคนไทย ทั้งนี้รัฐบาลควรสำรวจเองไปก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีแหล่งพลังงานมากแค่ไหน เพื่อไปประกอบการตัดสินใจในการจัดการทรัพยากร โดยการสำรวจสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย และเป็นสิ่งที่คนไทยทำได้

ทั้งนี้เรามีทั้งหมดอยู่ 29 แปลง ควรทยอยสำรวจทีละ 5-6 แปลง หลังจากสำรวจแล้วก็เชิญบริษัทเหล่านั้นมาเสนอราคาว่าบริษัทใดจะให้ประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด ไม่ใช่เปิดประมูลพร้อมกัน 21 แปลง เพราะบริษัทที่เข้ามาประมูลที่มีไม่กี่บริษัทสามารถฮั๊วกันได้ ดังนั้น การประมูลแต่ละครั้งควรให้จำนวนบริษัทมากกว่าจำนวนแปลง เราถึงจะได้ราคาที่ดีที่สุด 

ดร.นพ สัตยาศัย
 เครดิตภาพจาก  www.manager.co.th
ทั้งนี้หลังจากได้ข้อมูลแล้ว ควรเปิดประมูลแบบระบบแบ่งปันผลิต เพราะโปร่งใสกว่าจะรู้ได้ทันที ว่าขุดได้เท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ เพราะเราเป็นหุ้นส่วน การที่รัฐบาลรีบเปิดสัมปทานแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าไม่โปร่งใส

อีกทั้งน้ำมันในตลาดโลกลดราคาอยู่ถึง50% เพราะฉะนั้นการเปิดสัมปทานตอนนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบมาก เพราะเขาจะเสนอราคาที่น้อยมาก เพราะเขาผลิตตอนนี้กำไรน้อย เพราะฉะนั้น ควรมีการสำรวจตอนนี้และแก้กฎหมายควบคู่กันไป ทุกอย่างอยู่ในกรอบเวลาที่สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง

------