Thursday, February 12, 2015

บันทึกสุดท้าย-หยุดสัมปทานรอบที่ 21 : ชำแหละระบบสัมปทาน รัฐเสียหายทุกด้าน (ตอนที่ 2)


13 ก.พ.2558- (เดชา พาเทล-AltThaiNews) นับถอยหลังวันเสียเอกราชทางพลังงานของชาติ หลากหลายเหตุผลที่คนไทยต้องรับรู้ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานรอบที่ 21 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.พ.นี้

The Alternative Thai News Network (AltThaiNews) ได้บันทึกสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” ที่จัด โดยศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเร็วนี้ๆ ที่มีผู้ร่วมสัมมนาที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เพื่อให้เป็นความรู้และข้อมูลให้คนไทยรับรู้ ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานครั้งนี้

บทความก่อนหน้าเราได้รู้ถึงพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย ในเรื่องการจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ

ต่อจากนี้จะเป็นการชำแหละความไม่ชอบมาพากล ความไม่โปร่งใส ความบกพร่องของกฎหมายที่ใช้อยู่คือ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบอย่างมาก หากมีการเปิดสัมปทานในกฎกติกาเดิมที่เป็นอยู่ในขณะนี้   นั่นเป็นเหตุว่าประเทศไทยควรใช้ "ระบบแบ่งปันผลผลิต" เพื่อที่จะให้แหล่งปิโตรเลียมของคนไทยไม่ตกอยู่ในมือต่างชาติ  การบริหารจัดการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกหนึ่งคนสำคัญที่ลุกขึ้นให้ข้อมูลเรื่องนี้กับสาธารณะ เพื่อหวังว่าจะหยุดยั้งสัมปทานครั้งนี้ได้.....หากคนไทยได้รับรู้ข้อมูลดังต่อไปนี้ 

ภาพจาก :https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/photos_stream

หลังจากที่ให้ข้อมูลผ่านสื่อและเฟซบุคส่วนตัวมานาน นายธีระชัย ได้กล่าวปาฐกถา ครั้งแรกในเรื่องนี้ โดยเปิดประเด็นอย่างน่าสนใจว่า ทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินของประเทศกำลังพัฒนาใดก็ตาม ถ้ามีปริมาณมากสามารถจะพลิกสถานการณ์ผลได้ผลเสียต่อความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

โดยทั่วไปเราจะคิดว่าประเทศที่มีทรัพยากรใต้ดินนั้นเป็นประเทศที่โชคดี เพราะทรัพยากรเหล่านี้ไม่ต้องลงทุนซื้อหา เพียงแต่ต้องลงทุนขุดขึ้นมาใช้เท่านั้น จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญทำให้ประชาชนของประเทศนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แต่ประวัติศาสตร์จะปรากฏว่า แทบทุกประเทศกำลังพัฒนา แทนที่ทรัพยากรของประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ในอดีตส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์แก่ชั้นปกครอง และ บริษัทธุรกิจเอกชนที่ร่วมมือกับชนชั้นปกครองในการขุดทรัพยากรดังกล่าว
ประวัติศาสตร์แสดงครั้งแล้วครั้งเล่าว่าการที่ประชนชนจะได้มาซึ่งประโยชน์จากทรัพยากรนั้น ประชาชนจะต้องเรียกร้องทวงสิทธิ จะต้องเรียนรู้อำนาจของปวงชน ในวันนี้ ประชาชนคนไทยจำนวนมากได้ตื่นรู้เกี่ยวกับสิทธิในทรัพยากรของตน และสนใจที่จะเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรให้ดีขึ้น

จัดการทรัพยากรชาติต้องยึดหลัก 3 ดี 

ทั้งนี้  "ดี" ด้านที่หนึ่ง คือ ดีด้านคัดเลือกผู้ที่เข้ามาพัฒนาทรัพยากร สอง ดีด้านความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากร และสาม ดีด้านกฎระเบียบที่ควบคุมเรื่องนี้

1.การคัดเลือกต้องมีความโปร่งใส


ในด้านปิโตรเลียมประเทศไทยเปิดให้มีการสำรวจโดยใช้ระบบสัมปทานมาตั้งแต่มีการออกกฎหมายปี 2514 มีการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาพัฒนาทรัพยากรทำโดยคณะกรรมการข้าราชการหลายกระทรวงโดยให้สัมปทานมาแล้ว 20 รอบ และมีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อการนี้คือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้มีการแปรรูปเมื่อปี 2544

แต่มาถึงวันนี้ภายหลังจากมีการพบและผลิตปิโตรเลียมในไทยจำนวนมากแล้ว เวลาได้มาถึงจุดที่ประชาชนควรจะตั้งคำถามว่าวิธีการใช้ระบบสัมปทานนั้นยังเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ โดยปรากฏว่ามีประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกที่มีปิโตรเลียมได้เปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิตแล้วกว่า 40 ประเทศ

อีกทั้งมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากจากเดิมที่เราเริ่มต้น เรียกให้บริษัทเหล่านี้มาสำรวจและเราไม่แน่ใจว่าเราจะเจอปิโตรเลียมมากหรือน้อย เพราะฉะนั้น แนวคิดแบ่งผลผลิตที่ให้เป็นผลประโยชน์ของประเทศมากขึ้น อาจจะทำได้ยาก

แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่าเรามีปิโตรเลียมอยู่จำนวนมาก ทั้งในรูปของก๊าซและน้ำมัน เพราะฉะนั้น มาถึงวันนี้กระบวนการในการพิจารณา ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะทำให้เราขาดอำนาจต่อรอง อีกทั้งระบบสัมปทานกำหนดให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้มีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียม โดยเนื้อหาทางเศรษฐกิจจึงเสมือนเป็นการยกกรรมสิทธิ์ไปให้แก่เอกชนและทำให้รัฐมีความมั่นคงพลังงานน้อยกว่าระบบแบ่งผลผลิต

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

 นอกจากนี้ระบบสัมปทานยังมีการที่มีการแก้ไขกฎหมายให้ข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปและในบริษัทขุดเจาะน้ำมันและนักการเมืองสามารถโยกย้ายข้าราชการได้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถมั่นใจได้ว่าการทำหน้าที่คัดเลือกบริษัทที่เข้ารับสัมปทานจะเป็นไปอย่างเป็นกลางหรือไม่ เพราะถือว่าทั้งข้าราชการและนักการเมืองมีส่วนได้เสียกับบริษัทเหล่านี้  

แต่สำหรับระบบแบ่งผลผลิตนั้น การคัดเลือกทำโดยวิธีประมูลแข่งขันกัน ประชาชนจึงมั่นใจได้เต็มที่ว่ารัฐได้ประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะพึงได้ และไม่สามารถมีการลำเอียงเกิดขึ้นได้

ดังนั้น ในสภาวะที่ไทยแสดงศักยภาพปิโตรเลียมแน่นอนระดับหนึ่งแล้วอำนาจต่อรองย่อมจะสูงขึ้นกว่าในอดีต ในสถานการณ์ปัจจุบันไทยจึงสามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิตได้แล้ว

และเมื่อปีที่ผ่านมาก็มีผู้เชี่ยวชาญระดับหุ้นส่วนในสำนักงานสอบบัญชีที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกที่แนะนำผ่านสื่อว่าไทยควรจะเปลี่ยนไปใช้ระบบนี้ได้แล้ว แต่กระทรวงพลังงานกลับอ้างว่าจำเป็นต้องเร่งเปิดให้สัมปทานรอบ 21 มิฉะนั้นไทยจะไม่มั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ยิ่งต้องคิดกลับทาง แทนที่จะเร่งการผลิตและนำปิโตรเลียมในประเทศมาใช้ แต่ละปีควรจะกำหนดเพดานสัดส่วนการใช้จากในประเทศ เพื่อสงวนเอาไว้เวลาฉุกเฉินเสียมากกว่า

ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันจึงชี้ว่าประเทศไทยถึงเวลาที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิตแล้ว และข้ออ้างว่าต้องเร่งออกสัมปทานเพื่อความมั่นคงนั้นไม่ถูกต้อง

2.การใช้ทรัพยากรต้องมีความเป็นธรรมต่อประชาชน

การแปรรูปการปิโตรเลียมฯทำให้เกิดสภาพใหม่เป็นบริษัท จากเดิมที่รัฐเป็นเจ้าของคนเดียวเปลี่ยนเป็นมีผู้ถือหุ้นเอกชนร่วมด้วยทั้งคนไทยและต่างชาติ และทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง  เช่น เรื่องการโอนทรัพย์สินที่ได้มาโดยใช้อำนาจมหาชนของการปิโตรเลียมฯให้เป็นของรัฐยังดำเนินการไม่ครบถ้วนในเรื่องของระบบท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล  และมีข้อวิจารณ์ว่ามีการจัดสรรก๊าซหุงต้มไปให้แก่บริษัทปิโตรเคมีในเครือของบริษัทพลังงานก่อนภาคส่วนอื่นซึ่งเปิดช่องให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถซื้อก๊าซได้ในราคาต่ำกว่าตลาดโลกมาก

ซึ่งหากเป็นจริงย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปเสียประโยชน์ ทั้งในแง่การเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ได้รับค่าก๊าซต่ำกว่าที่ควรและในแง่ทำให้ประชาชนที่ซื้อก๊าซจะต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าธุรกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีผู้วิจารณ์ว่าเนื่องจากการแปรรูปมิได้มีการแยกส่วนบริษัทพลังงานเพื่อเปิดให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันได้เต็มที่ รัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดสูตรควบคุมราคาในเรื่องต่างๆ แต่สูตรเหล่านี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทพลังงานและทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าข้าราชการอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนดังที่กล่าวไปแล้ว

รวมถึงกองทุนน้ำมัน ซึ่งมีการเก็บเงินเข้ากองทุนและมีการจ่ายเงินชดเชยออกจากกองทุน แต่ไม่มีหลักประกันว่าการดำเนินการเบื้องหลังในการรับเงินชดเชยจากกองทุนดังกล่าวนั้น มีผู้ใดได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้เนื่องจากการผูกขาดกิจกรรมบางประการในบริษัทพลังงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการขนส่งหรือเรื่องอื่น คำถามเหล่านี้ประชาชนสงสัยว่ากระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นธรรมแล้วหรือยัง



3. กฎระเบียบต้องมีการยกเครื่อง 

โดยให้ตัวแทนของประชาชนประขาชนเข้าไปเป็นตัวแทนกำกับในเรื่องการแบ่งสรรผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน

จากการที่ข้าราชการในกระทรวงต่างๆสามารถเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและได้รับผลตอบแทนเป็นเงินสูงกว่าเงินเดือนราชการหลายเท่า จึงทำให้ประชาชนมีข้อกังวลเกี่ยวกับขบวนการกำกับธุรกิจพลังงาน แต่กฎระเบียบปัจจุบันมีการจำกัดขอบเขตในการเปิดเผยข้อมูลอย่างมาก

สถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนตื่นรู้เรื่องพลังงานและประสงค์จะศึกษาเพื่อป้องกันสิทธิอันชอบธรรมของตนนั้น รัฐควรจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเป็นเปิดเผยข้อมูลเต็มที่เพื่อให้มีการวิพากวิจารณ์และเสนอแนะให้รัฐแก้ไขเรื่องต่างๆมิให้ประชาชนเสียเปรียบ ไม่ว่าในเรื่องผลตอบแทนของแต่ละสัมปทานที่เกิดขึ้นแก่รัฐและแก่เอกชน จำนวนพื้นที่แต่ละรายที่ได้จากการให้สัมปทานแต่ละครั้ง ผลผลิตของแต่ละสัมปทาน

รวมทั้งควรมีการเปิดให้ตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมในขบวนการกำกับธุรกิจทรัพยากรทุกประเภทด้วย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น ขบวนการป้องกันและแก้ไขกรณีน้ำมันรั่ว มาตรฐานการใช้วัสดุอันตรายในการผลิต ฯลฯ

การคลังปิโตรเลียมสุดพิสดาร เอื้อประโยชน์เอกชนสุดขั้ว 

แต่ในเรื่องพลังงานนั้น ผมได้ศึกษาและพบว่ามีปัญหามากเป็นพิเศษเรื่องการคลังปิโตรเลียมที่ต้องทำการแก้ไขปรับปรุงก่อนเปิดสำรวจรอบ 21 ถึงแม้รัฐจะตัดสินใจเดินหน้าในรูปแบบสัมปทานอย่างเดิมก็ตาม ก็ต้องแก้ไขก่อนมิฉะนั้นประเทศจะเสียหาย เพราะการคลังปิโตรเลียมของไทยมีจุดอ่อนมาก

การคลังที่ทุกประเทศได้จากปิโตรเลียมนั้น จะเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (ก) ค่าภาคหลวง (ข) ผลประโยชน์พิเศษ และ(ค) ภาษี แต่มีข้อศึกษาบ่งชี้ว่ากติกาด้านการคลังปิโตรเลียมที่ประเทศไทยใช้มาเป็นเวลานานนั้น ถึงเวลาต้องปฏิรูปแล้ว เนื่องจาก

ค่าภาคหลวง

ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายตามอัตราการไหลของปิโตรเลียมนั้นกำหนดเป็นขั้นบันใด แต่ผู้ประกอบการสามารถควบคุมอัตราการไหลของปิโตรเลียมได้ จึงเป็นการให้ความยืดหยุ่นแก่ผู้ประกอบการโดยไม่จำเป็น เพราะเมื่อผลผลิตมีมากถึงระดับที่จะก้าวขึ้นบันใดอีกขั้นหนึ่ง ผู้ประกอบการมีทางเลือกจะคงอัตราการผลิตไว้ที่ขั้นเดิมไปก่อนก็ได้โดยจ่ายค่าภาคหลวงในอัตราที่ต่ำ หรือจะยอมผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อก้าวขึ้นบันใดไปอีกขั้นหนึ่งก็ได้โดยยอมจ่ายค่าภาคหลวงในอัตราที่สูงขึ้น


ดังนั้น กติกาที่ใช้ปัจจัยที่ผู้ประกอบการสามารถควบคุมได้ จึงไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เหมือนกับบอกว่า เราสร้างท่อต่างๆเพื่อนำน้ำมาให้ประชาชนใช้ แต่การควบคุมก๊อกน้ำอยู่ในมือเอกชน ซึ่งหวังอะไรไม่ได้ เพราะน้ำจะไหลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเอกชน


ผลประโยชน์พิเศษ


กฎหมายไทยกำหนดสูตรตามความลึกของท่อแต่ไม่กำหนดขนาดท่อ จึงเป็นการให้ความยืดหยุ่นแก่ผู้ประกอบการอีกเช่นกัน เพราะในอัตราการไหลเท่ากัน สามารถเลือกได้เองว่าจะใช้ท่อขนาดใหญ่ท่อเดียว หรือท่อขนาดเล็กหลายท่อซึ่งจะมีความยาวรวมกันมากกว่า เพราะกำหนดแค่ความยาวท่อเท่านั้น แต่ไม่กำหนดความกว้างของท่อ เอกชนจึงได้เปรียบอย่างมาก

จึงทำให้มีข้อท้วงติงว่าการให้ความยืดหยุ่นดังกล่าว เป็นเหตุให้แต่ละปีรัฐได้เงินนี้เพียงระดับไม่กี่พันล้านบาทจาก มูลค่าปิโตรเลียมนับแสนล้านบาทนั้น ดังนั้น กติกาที่คำนวนตามความยาวของท่อ จึงไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นสากล เพราะในหลายประเทศจะกำหนดผลประโยชน์ที่ภาคเอกชนต้องจ่ายเป็นขั้นบันได แต่ผูกโยงกับปัจจัยที่เอกชนไม่มีสามามารถควบคุมได้ หรือเรียกว่า เอกชนไม่มีก๊อกในมือแบบที่ประเทศไทยเอื้อประโยชน์ให้แบบที่เป็นอยู่ เรื่องนี้ต้องแก้ไขด่วน เพราะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากเกินไป

ภาษี
กติกาของไทยมีจุดอ่อน 2 ประการ และเป็นการเก็บภาษีแบบโบราณ เราเก็บภาษีในอันตราที่สูงร้อยละ 50 และเป็นอัตราตายตัว จึงไม่ยืดหยุ่นตามผลกำไรของผู้ประกอบการ (ข) ภาษีของไทยไม่ห้ามการคิดรายได้รายจ่ายแบบรวมแปลงการผลิต (ringfencing) กรณีที่เป็นการผลิตในแปลง Thailand I หรือ Thailand III ด้วยกันโดยนิติบุคคลเดียวกัน

 เพราะฉะนั้นการกำหนดแบบนี้จะมีปัญหาเทคนิค จะทำให้ส่วนแบ่งของรัฐสำหรับแปลงเล็กคิดเป็นสัดส่วนสูง แต่สำหรับแปลงใหญ่จะคิดเป็นสัดส่วนต่ำ จะทำให้ธุรกิจเอกชนไม่สนใจที่จะมาขุดแปลงเล็ก 

ที่ผ่านมาทำให้กระทรวงพลังงานมักจะบอกว่า เราจำเป็นที่ต้องใช้ระบบสัมปทานและให้ผลประโยชน์กับบริษัทที่มาสำรวจ เพราะเราเป็นแปลงเล็ก เพราะเรามีการกำหนดภาษีที่ทำให้บริษัทเอกชนไม่ชอบที่จะมาสำรวจแปลงเล็ก แบบนี้ประเทศชาติเสียหาย เพราะผู้สำรวจจะเป็นแค่รายเก่าๆเท่านั้น 

 หากรายเก่ารายนั้นได้สัมปทานใหม่ และปรากฎว่าสัมปทานเก่านั้นสามารถนำรายจ่ายจากสัมปทานใหม่ มาหักจากสัมปทานเก่าได้ ก็เท่ากับว่า รัฐบาลและประชาชนช่วยออกค่าสำรวจใหม่ให้กับสัมปทานรายเก่าโดยอัตโนมัติ  การใช้กระบวนการภาษีที่มีการเปิดให้คิดกระบวนการจ่ายข้ามแปลง แล้วรวมแปลงได้ จะทำให้รายใหม่เสียเปรียบรายเก่า

เครดิตภาพ จากเอกสารสัมมนา "ปฏิรูปพลังงาน: โอกาสและความท้าทายหลังรัฐประหาร  ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต


นอกจากนี้ ข้ออ้างของกระทรวงพลังงานว่าจำเป็นต้องใช้ระบบสัมปทานเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงได้  การตีความแบบนี้ถือว่าให้ประโยชน์แก่ธุรกิจมาก และหากผู้รับสัมปทานเป็นรายเก่าที่สามารถหักรายจ่ายที่สูงโดยไม่จำเป็นดังกล่าวออกจากรายได้ที่ผลิตอยู่แล้ว ยิ่งจะทำให้การคลังเสียหายอย่างหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นรัฐควรสำรวจเบื้องต้นเพื่อคัดเลือกพื้นที่ก่อน เพื่อแยกพื้นที่ที่คาดว่าจะไม่มีน้ำมันออกไปก่อน

เห็นได้ว่ากติกาการคลังปิโตรเลียมของไทยปัจจุบันในเรื่องค่าภาคหลวงและผลประโยชน์เพิ่มนั้นไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด  จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎเพื่อห้ามการหักรายจ่ายข้ามแปลงเสียก่อนที่มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21ไม่เช่นนั้น เอกชนรายเก่าก็จะได้เอาแต่รายได้ และทำให้ระบบการคลังประเทศเสียหาย  ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ


ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อคัดค้านเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ได้รับการยืนยันว่ากระทรวงพลังงานสามารถเดินหน้าได้เลย ซึ่งก็เป็นสิทธิของกระทรวงพลังงานถ้าอยากจะเดินหน้า เพราะภายใต้กฎอัยการศึกประชาชนอาจจะเคลื่อนไหวคัดค้านได้ยาก

แต่ก็อยากเตือนบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า ในกระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่มีกฎอัยการศึก การทำงานของ ปปช. ไม่ได้ยุติเพราะกฎอัยการศึก และส่วนตัวมั่นใจว่า ถ้าหากกระทรวงการคลังทำให้ประเทศเสียหาย ตนเองต้องแจ้งเรื่องนี้ไปที่ปปช. และมั่นใจว่าประชาชนก็คงทำคล้ายกันและขอฝากความหวังไว้ที่ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ ความทางเงินและการคลังดี จึงคิดว่าสำหรับคนที่มีอนาคตยาวไกล ถ้ามีความผิดติดตัวอนาคตจะไม่สดใสแน่นอน