Thursday, February 12, 2015

บันทึกสุดท้าย-หยุดสัมปทานรอบที่ 21 : สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย (ตอนที่1)

13 ก.พ.2558- (เดชา พาเทล-AltThaiNews) นับถอยหลังวันเสียเอกราชทางพลังงานของชาติ  หลากหลายเหตุผลที่คนไทยต้องรับรู้ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานรอบที่ 21 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.พ.นี้

The Alternative Thai News Network (AltThaiNews) ได้บันทึกสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” ที่จัด โดยศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเร็วนี้ๆ ที่มีผู้ร่วมสัมมนาที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เพื่อให้เป็นความรู้และข้อมูลให้คนไทยรับรู้ ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานครั้งนี้

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ยังมีคนไทยจำนวนมาก ที่เพิกเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้นว่าสัมปทานครั้งนี้จะนำประเทศชาติไปสู่อะไร เกิดความเสียหายแค่ไหน ทรัพยากรมหาศาลต้องตกเป็นของต่างชาติ ต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทั้งที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด แต่รัฐบาลไทยกำลังจะนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น และอาจจะสายไปหากไม่หากคนไทยยังเป็น "ไทยเฉย" อยู่แบบนี้ ทั้งที่พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน

ดังนั้นก่อนที่จะสายเกินไป ข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นข้อมูลชุดสุดท้ายที่คนไทยควรได้รู้ ก่อนที่เราจะเสียเอกราชทางพลังงานงานและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทยให้กับเอกชนต่างชาติ ในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้!!! จะเสียหรือไม่ จะอยู่หรือไปอยู่ที่คนไทยเท่านั้น!!!



เครดิตภาพจาก เฟซบุค คุยกับหม่อมกร




แหล่งน้ำมันฝาง ต้นแบบการจัดการทรัพยากรเพื่อชาติไทย


ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวเปิดสัมมนา โดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่มหากษัตริย์ไทย ได้วางรากฐานการจัดการทรัพยากร เพื่อชาวไทย ว่า เหตุที่งานต้องใช้ชื่อ "สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย" เนื่องจากในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการการรถไฟในสมัยนั้น โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทางการทำการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการ โดยให้กรมทางซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดรถไฟหลวงเข้ามาดำเนินการเพื่อนำทรายน้ำมันมาใช้แทนยางแอสฟัลต์และทำการทดลองกลั่นน้ำมันดิบที่ขุดได้ โดยมีการดำเนินการเรื่อยมาในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7


ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น นายสุธี เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา บุตรของ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง ผู้กำกับดูแลแหล่งน้ำมันดิบฝางในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือที่ระลึก 84 ปี กรมทางหลวง โดยบิดาของท่านได้เคยกล่าวว่า “ไม่สามารถนำไทยไปสู่มหาอำนาจได้ หากไม่มีน้ำมัน และการอุตสาหกรรม” ทางกรมได้ส่งนายปัญญา สูตะบุตร ไปปฏิบัติงานประจำที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งนั้นเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยท่านได้เล่าว่า “สงครามชักจะเข้มข้นขึ้นทุกที ต่างคนต่างไม่รู้ว่า ชะตาอนาคตจะเป็นอย่างไร ...โดยที่ฝางขณะนั้น ไม่มีไฟฟ้า ประปา .....ความจริงขณะนั้นเป็นสมัยสงคราม น้ำมันหายาก แต่เราก็สามารถกลั่นน้ำมันได้ทุกชนิด”
                                                          
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแลติดตามตรวจสอบนโยบายพลังงานมาอย่างยาวนาน
ในช่วงปี 2490 -2491 กรมทางได้ตั้งแขวงผลิตแอสฟัลต์ มีหน้าที่ผลิตแอสฟัลต์สำหรับกรมทางใช้ในภาคเหนือ แท้ที่จริงมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การหาน้ำมันปิโตรเลียม “... การผลิตแอสฟัลต์ก็เป็นงานของแขวงซึ่งน่าสนใจมาก กล่าวคือ ในบริเวณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่นั้น ไม่ว่าจะเจาะไปตรงไหนจะพบน้ำมันทั้งนั้น ถ้าเจาะเตี้ย ๆ ประมาณ 1 เมตร จะพบชั้นทราย ซึ่งมีน้ำมันดิบปนอยู่จำนวนมากบ้างน้อยบ้าง จำนวนสูงสุดจะได้น้ำมันดิบประมาณ 12% โดยน้ำหนักน้ำมันปนทรายนี้อยู่ใต้ดินเมืองฝางมีปริมาณมหาศาล”

เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้ ลงมติให้โอนกิจการน้ำมันของหน่วยสำรวจน้ำมันฝาง มาให้กรมการพลังงานทหาร วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่กรมพลังงานทหารตั้งกองสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ขยายพื้นที่ การสำรวจในลุ่มแอ่งภาคเหนืออีกหลายลุ่มแอ่ง คือ ลุ่มแอ่งเชียงใหม่ ลุ่มแอ่งลำปาง ลุ่มแอ่งลำพูน ลุ่มแอ่งแพร่ ลุ่มแอ่งเชียงราย และลุ่มแอ่งพะเยา 

ข้อมูลจาก ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ระบุว่า ในเบื้องต้นได้มีการประเมินศักยภาพลุ่มแอ่งต่างๆ คาดว่าจะมีน้ำมันสำรอง ที่มีการประมาณการเบื้องต้น 175 ล้านบาร์เรล มูลค่าประมาณ 2.88 แสนล้านบาท(คำนวณ ณ ราคาน้ำมันดิบที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล) โดยกรมการพลังงานทหารก็ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของชาติมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ 98 ปี

ในการดำเนินการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่บ่อน้ำมันฝางนี้ แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของบรรพบุรุษไทยที่เอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีความมั่นคงที่แท้จริงด้านพลังงานและสามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต จึงนับเป็นโชคดีของชาติที่ทรัพยากรปิโตรเลียมในภาคเหนือนี้ ไม่สามารถตกเป็นของเอกชนผ่านระบบสัมปทานปิโตรเลียม เนื่องจากหน่วยราชการยังคงดำเนินการตามพระบรมราโชบายในการนำทรัพยากรของชาติมาใช้เพื่อความมั่นคงเป็นอันดับแรก มากกว่าการมุ่งนำไปใช้ให้หมดไปเหมือนในปัจจุบันที่ต้องการเพียงการสร้างผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น 

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าววว่า อย่างไรก็ตามในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยกลับไม่ได้มีการจัดการทรัพยากรตามพระบรมราโชบาย แต่มีการจัดการภายใต้ระบบสัมปทานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยมแห่งชาติ 2514 ที่มีการยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมดให้แก่เอกชน โดยมาตรา 56 ให้ได้เอกชนสามารถครอบครองขายทรัพยากรของชาติได้ทั้งหมด จึงเท่ากับเราสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรของชาติและเท่ากับอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากร

โดย พรบ.ฉบับดังกล่าว หน่วยงาน USOM ของรัฐสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนทุนในการดำเนินการทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจูงใจเอกชนมากที่สุด จึงมิได้ตั้งอยู่บนหลักความมั่นคงของชาติดังเช่นอดีต

อีกทั้งมาตรา 13 ยังระบุว่า สิทธิในการถือสัปทานไม่อยู่ในการรับผิดแห่งการบังคับคดี เท่ากับไม่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของศาลไทย เราสูญเสียอธิปไตยในกรรมสิทธิไปแล้วในมาตรา 56 แล้วเรายังสูญเสียอำนาจทางอธิปไตยของศาลไปอีกในมาตรา 13 ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับสัมปทานมากที่สุด

“ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ต้องแก้ไข และเห็นว่า การจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคงยังยืนที่แท้จริงนั้น รัฐควรน้อมนำพระบรมราโชบายการจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทยในอดีตมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ เพราะระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ขัดวัตถุประสงค์ความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง และอาจนำชาติไปสู่ความเสี่ยงในอนาคต เพราะทรัพยากรพลังงานคือพลังของแผ่นดิน ที่ต้องสงวนรักษาเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน”


รัฐอย่ามโนว่ามีน้ำมันน้อย แล้วยอมเสียอธิปไตยให้ต่างชาติ

สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่คัดค้านการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร บอกว่า สิ่งที่เราทำตอนนี้ คือ ไม่ได้อยู่เพื่อตักตวงทรัพยากรให้มากที่สุด แต่ทำเพื่อเราจะเหลืออะไรให้แผ่นดินให้มากที่สุด ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น ถ้าผู้มีอำนาจเปิดใจรับฟัง จะรู้ได้ว่าข้อมูลที่ได้รับล้วนมาจากผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งสิ้น เพราะแผ่นดินนี้เป็นของส่วนรวมที่บรรพบุรุษส่งต่อมาหลายชั่วอายุคน เพื่อให้เราส่งต่อไป ไม่ใช่ให้มาตักตวงให้มากที่สุด


ดังนั้น สิ่งที่เราทำตอนนี้ เราไม่ได้มาถ่วงความเจริญของชาติ แต่เรามาทำให้ประเทศชาติมีความเจริญอย่างยั่งยืนมั่นคงตลอดไป นอกจากนี้ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน รู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เพราะในเรื่องข้อมูลที่ผ่านมานั้น หน่วยงานรัฐไม่เคยโต้แย้งใดๆ แต่กลับเลือกที่จะไม่มีการบันทึกและรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ

ส่วนการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ที่ผู้กำหนดนโยบายอ้างว่า ไม่รู้ว่าจะเจอน้ำมันหรือไม่ เห็นได้ว่าเป็นเพราะไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรที่รอบคอบเพียงพอ เพราะควรมีการสำรวจก่อน แม้แต่กัมพูชายังจ้างบริษัทของออสเตรเลียมาสำรวจ เพื่อให้รู้ว่าประเทศมีทรัพยากรหรือไม่เท่าใด แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะไม่อยากทำมากกว่า เหตุที่เราไม่ทำเพราะจะได้สรุปไปเลยว่าประเทศไทยมีน้ำมันน้อยและต้องใช้ระบบสัมปทาน ทั้งที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน แสดงว่า ระบบสัมปทานแบบนี้เป็นระบบมโนไปเองว่าเรามีน้ำมันน้อย

ทั้งนี้ เราไม่ได้ต่อต้านการขุดเจาะพลังงานขึ้นมาใข้ แต่เราต่อต้านระบบพลังงานที่ไม่รอบคอบ และนำไปสู่ความเสี่ยงของแผ่นดิน ด้วยการยกทรัพยากรให้คนอื่นไป โดยที่ตัวเองยังไม่รู้เลยว่ามีหรือไม่มี ทั้งนี้บรรพชนไทยในอดีตเสียเลือดเนื้อไปจำนวนมากในแผ่นดินที่เหยียบอยู่นี้ ดังนั้น พลังงานคือ พลังของแผ่นดิน ถัาเราไม่มีพลังงานเป็นของตนเองเราไม่มีทางที่จำเป็นมหาอำนาจได้ ไม่มีสิ่งใดที่คนไทยทำไม่ได้ เห็นได้จากการขุดน้ำมันที่ฝาง ที่เราสามารถกลั่นน้ำมันได้ทุกชนิด แต่ตอนนี้รัฐกลับอ้างว่ารัฐทำไม่ได้ จึงต้องยอมสูญเสียอธิปไตยให้ต่างชาติใช่หรือไม่ ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะเราเป็นเจ้าของทรัพยากร ซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ความเจริญที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ด้วยมือสองมือของประชาชนเท่านั้น