Friday, February 13, 2015

บันทึกสุดท้าย-หยุดสัมปทานรอบที่ 21 : เปิดสัมปทานเท่ากับปล่อยข้าศึกยึดประเทศ (ตอนที่ 3)

13 ก.พ.2558- (เดชา พาเทล-AltThaiNews) นับถอยหลังวันเสียเอกราชทางพลังงานของชาติ หลากหลายเหตุผลที่คนไทยต้องรับรู้ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานรอบที่ 21 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.พ.นี้

The Alternative Thai News Network (AltThaiNews) ได้บันทึกสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” ที่จัด โดยศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเร็วนี้ๆ ที่มีผู้ร่วมสัมมนาที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เพื่อให้เป็นความรู้และข้อมูลให้คนไทยรับรู้ ว่าทำไมเราต้องหยุดสัมปทานครั้งนี้

บทความก่อนหน้าเราได้รู้ถึงพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย ในเรื่องการจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ รวมถึง จุดอ่อนข้อบกพร่องของระบบสัมปทานและการคลังปิโตรเลียมในปัจจุบันที่ทำให้ชาติเสียหายทุกด้าน  

จากนี้จะขอย้อนเวลาไปอีกครั้งกับโศกนาฏกรรมของชาติตอนที่มีการแปรรูปปตท. จนสมบัติชาติกลายเป็นของเอกชนจากการร่วมมือกันของข้าราชการที่ทำงานรับใช้นักธุรกิจการเมือง  ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีทางออกและทางรอดอย่างไร  คนธรรมดาแบบประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้าง  เพื่อให้แหล่งพลังงานของชาติเป็นของคนไทยอย่างแท้จริง!!!!  

เครดิตภาพจาก  http://thaiforgetit.blogspot.com/2015/01/130-21.html



นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   ได้ชี้แจงในเรื่องนี้  ว่า การเรียกร้องให้หยุดสัมปทาน  เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน  เพราะหากเวลามีข้าศึกสงครามมาบุกประเทศเรา ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้  และจะไม่ยอมให้ใครมาเอาทรัพยากรของเราไป    ที่สำคัญในเรื่อง สัญญาประชาคม เจตจำนงค์ของประชาชนสำคัญที่สุด ถ้ารัฐบาลไหนไม่ทำตามเจตจำนงค์ของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนรัฐบาลได้ 

 สำหรับเรื่องพลังงานนั้น  ที่ผ่านมามีพลังอำนาจของเครือข่ายข้าราชการ กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ  อยู่ในมือนักธุรกิจการการเมือง/ นักการเมืองพาณิชย์/ นักการเมืองปล้นชาติ  ที่ไม่ได้เข้ามาทำงานรับใช้ประชาชน แต่คนพวกนี้มองว่าการเมืองคือ ธุรกิจอย่างหนึ่ง และการลงทุนทางการเมืองให้ผลตอบแทนสูงสุด  สูงกว่าตลาดหุ้นด้วยซ้ำ 

นักการเมืองเหล่านี้จะมากันในรูปแบบการก่อตั้งพรรคการเมือง  สมัครส..  ได้เป็นรัฐบาลและควบคุมรัฐสภาได้แล้ว บวกกับข้าราชการที่ไม่มีศักดิ์ศรีทำงานรับใช้นักการเมือง   เมื่อเข้ามาแล้วก็จะแก้กฎหมายให้นักการเมืองปล้นชาติ  ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน  เพราะเราไม่มีข้อห้ามให้ข้าราชการมาเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจและเอกชน ซึ่งได้ค่าตอบแทนโบนัสและเบี้ยประชุมปีละเป็นล้าน   ทำให้มีการแก้กฎหมายและดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองพาณิชย์แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของประชาชน   

ตะลึง! 2 นาทีแปรรูปปตท. ย้ำต้องทวงคืนกลับมาเป็นของรัฐ 

การร่วมมือกันระหว่าง นักการเมือง กับ ข้าราชการ  ในการแปรรูปปตท.  ในปี 2544  เหมือนการเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยการแปรรูปในตอนนั้นใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที และไม่มีการเปิดรายชื่อบริษัทและผู้ถือหุ้นที่ได้หุ้นไป   ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสดารมาก และมีประเทศไทยเท่านั้นที่ทำแบบนี้  เพราะมูลค่าหุ้นรวมกันเป็นแสนๆล้านแต่เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นเจ้าของ 

และต่อจากนี้ไปจะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการรถไฟ เพราะจะมีการปั่นราคาที่ดินสองข้างทางให้มีค่าสูงมหาศาล   เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาทวงกรรมสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพยากร



ทั้งนี้ประเทศไทยต้องหยุดสัมปทานรอบที่ 21 และ เปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต   50/50  โดยผลจากระบบดังกล่าวทำให้ บริษัทปิโตรนาส  ซึ่งเป็นของรัฐบาลมาเลเซีย  ติดอันดับที่ 75 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นอันดับที่ 12 ของโลกที่มีกำไรมากที่สุดของโลก และมีกำไรมากที่สุดของเอเชีย  และส่งรายได้ให้รัฐบาลถึง 45%ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล 

กลับมาที่ประเทศไทย ถ้า ปตท. เป็นของรัฐ  100%   รัฐก็จะมีรายได้จากปตท และ บริษัทลูกทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 45  ของงบประมาณแผ่นดิน  เงินดังกล่าวน่าจะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น  สามารถสร้าง มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ระบบชลประทาน ไปทั่วถึงทุกจังหวัด เพราะฉะนั้น  ปตท.  ควรกลับมาเป็นของคนไทย แล้วใช่หรือไม่  

เพราะหากดูบทเรียนจากเวเนซุเอล่า จะพบว่าหลังจากที่ฮูโก ชาเวซ ดึงรัฐวิสาหกิจมาเป็นของรัฐ ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของคนเวเนฯดีขึ้น  ดังนั้น  หากปตท. กลับมาเป็นของรัฐบาลที่มีความโปร่งใส  น่าจะทำให้ความยากจน ความอดอยากของสังคมไทยลดลงได้ 

ส่วนคำถามที่ว่าประเทศไทยมีน้ำมันหรือไม่นั้น  ตัวเลขจากการขุดเจาะของเชฟรอนที่เดียวระบุว่า ประเทศไทยมีน้ำมัน  81,000 บาเรลล์ต่อวัน  ซึ่งถ้าคิดเป็นเงินจะมีค่ามหาศาล  (81,000x 3000) x365  วัน  เท่ากับปีละ  300,000 ล้านบาท แต่เราเก็บค่าภาคหลวงได้นิดเดียว 

ทั้งนี้รายได้จากการผลิตน้ำมันทั้งหมด   529,000 ล้านบาท  แต่ค่าภาคหลวงเราได้เพียง 183,000 ล้านบาท เท่านั้น  ซึ่งหากเอาตัวเลขนี้สลับกันเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต 65/35 รัฐได้  370,000 ล้าน เอกชนได้180,000 ล้านบาท   นี่คือความแตกต่างระหว่างสองระบบ แต่ทำไมรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าของแหล่งพลังงานจึงไม่เอาระบบนี้ ทั้งที่รัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า กลายเป็นว่ารัฐบาลอยากได้ระบบสัมปทานที่ทำให้ไทยได้ประโยชน์น้อยที่สุด 

ทางออกและทางรอดของชาติ 

 1.   ต้องมีการเปลี่ยนนโยบายจากการค้าเสรีให้เป็นการค้าเป็นธรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียงด้วย  เพราะหากเราเขียนในรัฐธรรมนูญว่าเป็นการค้าเสรี  ไทยจะโดนต่างชาติยึดประเทศแน่ เพราะแต่ก่อนตะวันตกใช้เรือปืน  แต่สมัยนี้ตะวันใช้คำว่าการค้าเสรีในการล่าอาณานิคม คนไทยต้องเข้าใจเรื่องนี้  
 2.  ต้องมีการแก้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514  มาตรา 13 และ มาตรา 56  ให้สอดคล้องกับนโยบายการค้าเป็นธรรม  
3. ต้องซื้อหุ้น ปตท.กลับมาเป็นของคนไทย เหมือนกับที่กรณีของประเทศเวเนซูเอลา
4.  ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ  รับตำแหน่งในบริษัทเอกชน หรือกึ่งเอกชนอย่างเด็ดขาด 
 5.  ต้องออกกฎหมายลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายให้เป็นโทษอาญา และ สร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  และเป็นโจทย์ฟ้องร้องได้ 
6. รัฐต้องมีการจัดตั้งกองทุนแห่งชาติเหมือน เทมาเส็กของ สิงคโปร์  ประเทศจีน   และใช้กองทุนเหล่านี้เป็นผู้ดูแลรัฐวิสาหกิจ  อย่าหลงกล โลกตะวันตก ที่บอกว่าการแข่งขันเสรีแล้ว รัฐบาลไม่สามารถลงทุนแข่งได้ เพราะประเทศทุนนิยมอย่างสิงคโปร์ ก็มีการตั้งกองทุนมาแข่งขันกับเอกชน   เพราะฉะนั้นรัฐสามารถแข่งขันได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนมาตักตวงเอาความมั่งคั่งของประเทศไป